วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง (Mental Discipline)

ทิศนา แขมมณี (2550)  ได้กล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20  และหลักการจัดการศึกษาและการสอนไว้ดังนี้

ทฤษฎีที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง (Mental Discipline)  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าจิตหรือสมองหรือสติปัญญา (mind) สามารถพัฒนาให้ปราดเปรื่องได้โดยการฝึก เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อซึ่งจะแข็งแรงได้ด้วยการฝึกออกกำลังกาย ในการฝึกจิตหรือสมองนี้ทำได้โดยการให้บุคคลเรียนรู้เรื่อง ที่ยาก ๆ ยิ่งยากมากเท่าไรจิตก็จะได้รับการฝึกให้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น นักคิดกลุ่มนี้มีแนวคิดแยกออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ (Bigge,1964 : 19 – 30 อ้างถึงในทิศนา แขมมณี 2550 : 45 – 48)

1. กลุ่มที่เชื่อในพระเจ้า (Theistic Mental Discipline) นักคิดที่สำคัญของกลุ่มนี้คือ เซนต์ออกุสติน (St. Augustine) จอห์น คาลวิน (John Calvin) และคริสเตียน โวล์ฟ (Christian Wolff) นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อ ดังนี้

ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้

1.1 มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความชั่วและการกระทำใด ๆ ของมนุษย์เกิดจากแรงกระตุ้นภายในตัวมนุษย์เอง (bad-active)

1.2 มนุษย์พร้อมที่จะทำความชั่วหากไม่ได้รับการสั่งสอนอบรม

1.3 สมองของมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็นส่วน ๆ (faculties) ซึ่งหากได้รับการฝึกอย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้

1.4 การฝึกสมองหรือฝึกระเบียบวินัยของจิตเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาให้มนุษย์เป็นคนดีและฉลาด

1.5 การฝึกฝนสมองให้รู้จักคิด ต้องใช้วิชาที่ยาก เช่นวิชาคณิตศาสตร์ ปรัชญา ภาษาลาติน ภาษากรีกและคัมภีร์ใบเบิล เป็นต้น

หลักการจัดการศึกษา/การสอน

1.1  การฝึกสมองหรือการฝึกระเบียบของจิตอย่างเข้มงวด เป็นสิ่งสำคัญในการฝึกให้บุคคลเป็นคนฉลาดและคนดี

1.2  การฝึกจิตจะต้องทำอย่างเข้มงวด เพื่อให้จิตเข้มแข็ง การบังคับ ลงโทษเป็นสิ่งจำเป็นถ้าผู้เรียนไม่เชื่อฟัง

1.3  การจัดให้ผู้เรียนได้เรียนเนื้อหาวิชาที่ยาก ได้แก่ คณิตศาสตร์ ปรัชญา ภาษาลาตินและภาษากรีก จะช่วยฝึกฝนสมองให้เข้มแข็งได้เป็นอย่างดี

1.4  การจัดให้ผู้เรียนได้ศึกษาคัมภีร์ใบเบิลและยึดถือในพระเจ้า จะช่วยให้ผู้เรียนเป็นคนดี

2.  ทฤษฎีของกลุ่มที่เชื่อในความมีเหตุผลของมนุษย์ (Humanistic Mental Discipline) นักคิดคนสำคัญในกลุ่มนี้คือ พลาโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle) นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อ ดังนี้

ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้

1.1  พัฒนาการในเรื่องต่าง ๆ เป็นความสามารถของมนุษย์ มิใช่พระเจ้าบันดาลให้เกิด

1.2  มนุษย์เกิดมามีลักษณะไม่ดีไม่เลวและการกระทำของมนุษย์เกิดจากแรงกระตุ้นภายใน (neutral - active)

1.3  มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง มนุษย์มีอิสระที่จะเลือกทำตามความเข้าใจและเหตุผลของตน หากได้รับการฝึกฝนอบรมก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพที่ติดตัวมา

1.4  มนุษย์มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ถ้าขาดการกระตุ้นความรู้จะไม่แสดงออกมา

หลักการจัดการศึกษา/การสอน

.1  การพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้คือการกระตุ้นความรู้ในตัวผู้เรียนให้แสดงออกมา

1.2  การพัฒนาผู้เรียนไม่จำเป็นต้องใช้การบังคับ เคี่ยวเข็ญ แต่ควรใช้เหตุผลเพราะมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการใช้เหตุผล

1.3  การใช้วิธีสอนแบบโสเครตีส (Socratic Method) คือการใช้คำถามเพื่อดึงความรู้ในตัวผู้เรียนออกมาให้เห็นกระจ่างชัด เป็นวิธีสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี

1.4  การใช้วิธีสอนแบบบรรยาย (Didactic Method) คือการสอนที่ใช้คำถามฟื้นความจำของผู้เรียนแล้วเพิ่มเติมประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน เป็นวิธีสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง

 

สยุมพร (https://www.gotoknow.org/posts/341272)  ได้กล่าวไว้ว่า ฝึกจิตหรือสมอง (Mental Discipline)   นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า  จิตหรือสมองหรือสติปัญญา(mind)  สามารถพัฒนาให้ปราดเปรื่องได้โดยการฝึก  ในการฝึกจิตหรือสมองนี้ทำได้โดยให้บุคคลเรียนรู้สิ่งที่ยากๆ ยิ่งยากมากเท่าไร  จิตก็จะได้รับการฝึกให้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น  หลักการในการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  โดยการกระตุ้นความรู้ในตัวผู้เรียนให้แสดงออกมา วิธีการสอนแบบโสเครติส(Socratic Method)  และวิธีการสอนแบบบรรยาย(Didactic Method)  เป็นวิธีการสอนตามทฤษฏีนี้ที่ใช้คำถามเพื่อดึงความรู้ในตัวผู้เรียนออกมาให้กระจ่างชัดและช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน  ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี

 

เลิศชาย ปานมุข (https://www.l3nr.org/posts/386486)  ได้กล่าวไว้ว่า  ทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ถูกรวบรวมเป็นองค์รวมเป็นชุดของหลักการต่าง ๆ เพื่ออธิบายเหตุผลการได้มาขององค์ความรู้ การรักษาไว้และการเรียกใช้องค์ความรู้ในแต่ละบุคคลได้  อย่างไร ทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ  เปิดโอกาสให้ท่านกำหนดเบ้าหลอมผู้เรียนและกำหนดคำทำนายเกี่ยวกับผลการเรียน รู้ด้วยตัวท่านเอง  ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้อธิบายลักษณะของการเกิดการเรียนรู้  หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้  ส่วนหลักการสอนก็คือ แนวคิดที่เป็นหลักของการปฏิบัติทางการสอนที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ

การเรียนรู้ (Learning) หมายถึง "การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเดิม อันเป็นผลมาจากการได้รับประสบการณ์" พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในที่นี้ มิได้หมายถึงเฉพาะพฤติกรรมทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมทั้งมวลที่มนุษย์แสดงออกมาได้ ซึ่งจะแยกได้เป็น 3 ด้านคือ

1. พฤติกรรมทางสมอง (Cognitive) หรือพุทธิพิสัย เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง (Fact) ความคิดรวบยอด (Concept) และหลักการ (Principle)

2. พฤติกรรมด้านทักษะ (Psychromotor) หรือทักษะพิสัย เป็นพฤติกรรมทางกล้ามเนื้อ แสดงออกทางด้านร่างกาย เช่น การว่ายน้ำ การขับรถ อ่านออกเสียง แสดงท่าทาง

3. พฤติกรรมทางความรู้สึก (Affective) หรือจิตพิสัย เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในเช่น การเห็นคุณค่า เจตคติ ความรู้สึกสงสาร เห็นใจเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น
ทฤษฎีการเรียนรู้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  ดังต่อไปนี้

1.   ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20

1.1   ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง(Mental Discipline) นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า  จิตหรือสมองหรือสติปัญญา(mind)  สามารถพัฒนาให้ปราดเปรื่องได้โดยการฝึก  ในการฝึกจิตหรือสมองนี้ทำได้โดยให้บุคคลเรียนรู้สิ่งที่ยากๆ ยิ่งยากมากเท่าไร  จิตก็จะได้รับการฝึกให้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น  หลักการในการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  โดยการกระตุ้นความรู้ในตัวผู้เรียนให้แสดงออกมา 

สรุป


จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า  ทฤษฎีที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง (Mental Discipline)  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าจิตหรือสมองหรือสติปัญญา (mind) สามารถพัฒนาให้ปราดเปรื่องได้โดยการฝึก เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อซึ่งจะแข็งแรงได้ด้วยการฝึกออกกำลังกาย ในการฝึกจิตหรือสมองนี้ทำได้โดยการให้บุคคลเรียนรู้เรื่อง ที่ยาก ๆ ยิ่งยากมากเท่าไรจิตก็จะได้รับการฝึกให้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น
 
ที่มา
ทิศนา  แขมณี. (2550). ศาสตร์การสอน. พิมพ์ครั้งที่ 5. บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์:กรุงเทพมหานคร.
สยุมพร. [ออนไลน์]. https://www.gotoknow.org/posts/341272.  ฝึกจิตหรือสมอง(Mental Discipline). เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561.
เลิศชาย ปานมุข. [ออนไลน์]. https://www.l3nr.org/posts/386486. ทฤษฎีการเรียนรู้. เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

           http://teaching-maths3.blogspot.com (2553)  ได้รวบรวมข้อมูลไว้ว่า   ความหมายของสื่อการเรียนการสอน           สื่อการสอน คือ ...